ทักษิณ บุ๊คบรีฟ
วิถีทุน : จุมพฏ สายหยุด กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 17 มีนาคม 48
เมื่อสักสองสามปีก่อน มีคนตั้งข้อสังเกตกับผมว่า น่าจะมีใครสักคนทำบทคัดย่อหรือ Book Brief หนังสือที่นายกรัฐมนตรีแนะนำคณะรัฐมนตรีให้อ่าน ไม่ใช่เพราะคนไทยขี้เกียจอ่านหนังสือ หรืออ่านภาษาอังกฤษไม่ออก หรือไม่มีปัญญาไปตามซื้อหรอกครับ หากแต่เพราะในเมืองฝรั่งนั้นเรื่อง Book Brief เขาทำกันเป็นล่ำเป็นสัน คือ ฝรั่งเจ้าของภาษาแท้ๆ เขาก็ยังไม่มีเวลาอ่านต้องไปจ้างคนอื่นอ่านแล้วบรีฟให้ฟังอีกที
ดังนั้นพอซีเอ็ดจัดพิมพ์ "109 หนังสือจากนายกฯ ทักษิณ" ผมก็ต้องพูดว่า "ใช่เลย" แล้วรู้สึกทึ่งมากขึ้นที่ทีมงานจัดทำเรื่องนี้คือ ทีมงานบ้านพิษณุโลก หรือที่มีชื่อเป็นทางการว่า "คณะกรรมการติดตามและประสานงานตามคำสั่งการของนายกรัฐมนตรี"
ความจริงส่วนใหญ่ทีมงานผู้จัดทำไม่ได้ทำหน้าที่ในการบรีฟ หนังสือทั้ง 109 ด้วยตนเอง แต่ใช้วิธีการ ให้ตัวท่านนายกรัฐมนตรีเป็นผู้บรีฟ ซึ่งก็คงต้องขอบคุณระบบการจัดเก็บข้อมูลปาฐกถา และการออกอากาศของคุณทักษิณในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา ที่เป็นระบบ และมีความเป็นสาธารณะสูงมาก (คนที่ทำได้ดีเช่นนี้รองลงไปคือ คุณสมคิด จาตุศรีพิทักษ์)
จากนั้นก็ดึงบรีฟจากสื่อต่างๆ ที่เขียนถึงหนังสือเหล่านี้ รวมทั้งจาก "กรุงเทพธุรกิจ" ก็มีอยู่หลายเล่ม ความเด่นของหนังสือเล่มนี้ยังอยู่ที่การอ้างอิงที่เป็นระบบมาก แถมยังมี การดึง "สถิติ" ที่มีสีสันและมีลูกเล่นในท้ายเล่มที่น่าชมเชยอีกอย่างคือ มีหนังสืออยู่ 5 เล่มที่ไม่มีหลักฐานอ้างอิงทางการว่า คุณทักษิณกล่าวถึงเมื่อใด แต่มีแหล่งข้อมูลยืนยันทีมงานก็นำเสนอสาระของหนังสือเหล่านี้ไว้ด้วย
ไม่มีข้อมูลว่า การจัดเตรียมข้อมูลของหนังสือเล่มนี้เริ่มเมื่อไหร่ แต่ข้อมูลบางส่วนในหนังสือระบุว่า ต้นฉบับแล้วเสร็จประมาณปลายเดือน ก.พ. ซึ่งทำให้สามารถพิมพ์แจกผู้มาร่วมงานพิธีรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้ทันในช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา
ผมขอพักเรื่องสาระของหนังสือเล่มนี้ แต่อยากจะวิเคราะห์ถึงสาเหตุ และผลกระทบของการแนะนำหนังสือของคุณทักษิณ ถึงแม้จะมีการวิจารณ์ในเรื่องนี้ในทำนองที่ว่า อ่านจริงหรือเปล่า หรือการสร้างภาพ แต่ผมอยากจะข้ามพ้นประเด็นเหล่านี้ไป เพื่อไปสู่ประเด็นของการบริหารจัดการ
เป็นที่เข้าใจกันโดยทั่วไปว่า คุณทักษิณ จะแนะนำหนังสือแนวบริหารธุรกิจ แต่ที่จริงแล้วท่านแนะนำหนังสือหลายประเภท เช่น ศาสนา วรรณกรรมเด็ก วิทยาศาสตร์เทคโนโลยี แม้กระทั่งหนังสือเอ็นจีโอ แต่ก็จริงที่ส่วนใหญ่ก็จะเป็นแนวบริหารธุรกิจ การวางกลยุทธ์องค์กร กระบวนทัศน์ด้านทุน และการฝึกฝนตนเอง
ผมเชื่อว่า คุณทักษิณต้องการใช้การแนะนำหนังสือ เป็นเครื่องมือในการสื่อสารแนวความคิดเพื่อการเปลี่ยนแปลง เราลองนึกถึงภาพการประชุมคณะรัฐมนตรีที่ร้อยวัน พันปี ก็คือ การประชุมตามวาระที่เป็นราชการมากๆ
ด้วยกระบวนทัศน์แบบเดิมๆ เราได้ทราบว่า คุณทักษิณพยายามเปลี่ยนแปลงเรื่องนี้ และการอ้างสาระของหนังสือที่ท่านได้อ่านก็เป็นกระบวนการตรงนั้น นั่นคงเป็นอุบายอย่างหนึ่งของผู้ทำ เพราะอยู่ดีๆ จะให้อ้างสาระที่แปลกใหม่โดยไม่มีที่มาที่ไป ไม่มีตัวช่วยที่เป็นนักคิด นักเขียน คนก็คงจะไม่เชื่อจริงจังโดยง่าย
แล้วคุณทักษิณ ก็ไม่ได้แนะนำหนังสือเฉพาะรัฐมนตรีเท่านั้น แต่แนะนำกับคนหลายกลุ่มทั้งนักเรียน นักวิทยาศาสตร์ ข้าราชการ หอการค้า สมาคมนักเรียนทุน และผ่านรายการนายกฯ ทักษิณ คุยกับประชาชน
จาก "109 หนังสือจากนายกฯ ทักษิณ" ทำให้ผมได้เห็นจุดเชื่อมโยงอันหนึ่งคือ นอกเหนือจาก "สาระ" ของหนังสือแล้ว หากเราดู "กาลเทศะ" และ "จังหวะ" การบรีฟของคุณทักษิณทั้ง 109 เล่ม ตั้งแต่วรรณกรรมเด็กจนถึง เรื่องราวทางวิทยาศาสตร์ เราจะพบว่ามีจุดร่วมกันว่า ท่านจะอ้างสาระของหนังสือ เพื่อเรียกร้อง "การเปลี่ยนแปลง" จากกลุ่มเป้าหมายที่ไปพูดให้ฟัง ไม่มีครั้งใดเลยที่ท่านจะอ้างสาระของหนังสือเพื่อ "รักษาสถานะเดิม" ที่มีอยู่
ถ้าเราลองอ่านการบรีฟ "The Heart of Change" ซึ่งเป็นหนึ่งในหนังสือ 109 เล่ม ก็จะพบว่า ในกระบวนการจัดการ การเปลี่ยนแปลงนั้น กำหนดให้ผู้นำต้องสื่อวิสัยทัศน์ให้แก่บุคลากร โดยการใช้ภาษาที่ง่ายและมีความจริงใจ
ในการสื่อสารเพื่อการเปลี่ยนแปลงนอกจากจะเริ่มจาก "ทีมผู้นำการเปลี่ยนแปลง" แล้ว ยังต้องสื่อให้คนได้รับรู้เป็นจำนวนมากที่สุดด้วย จึงต้องผ่านหลายๆ ช่องทาง จนกระทั่งคนเริ่มยอมรับวิสัยทัศน์นั้น ซึ่งหมายถึงการเริ่มเปลี่ยนแปลง
การเริ่มเปลี่ยนแปลง และยอมรับการเปลี่ยนแปลงนี้ในที่สุดก็จะแผ่ซ่านไปยังประชาชนในฐานะผู้รับสาร
ถ้าเรามีคำว่า Market Share เพื่อกล่าวถึง "ส่วนแบ่งทางการตลาด" เราอาจจะต้องตระหนักว่า สมองของคนเราแต่ละคนก็มีฐานะเป็น "ตลาด" เช่นกัน สารที่คุณทักษิณส่งมา ได้เข้าจับจองสิ่งที่ผมขอเรียกว่า Knowledge (Market) Share
มือขวาของคุณทักษิณอาจจะถือ "ถุงเงิน" สร้าง Market Share แต่มือซ้ายของท่านก็ถือหนังสืออีก 109 เล่ม
สร้าง Knowledge Share ที่ประสานกันยึดกุมผู้ลงคะแนนกลุ่มใหญ่ในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาได้
ท้ายสุดนี้ขอเสนอ "ลูกเล่น" ของทีมงานที่สร้างเสน่ห์ให้ "109 หนังสือจากนายกฯ ทักษิณ" ในช่วงที่สุดของหนังสือ ซึ่งมีหลายที่สุด แต่อยู่เล่มหนึ่งที่ทีมงานเห็นว่า "น่าเบื่อที่สุด" คือหนังสือ Managing Risk เขียนโดย
Alan Waring, Ian Glendon หนังสือเล่มนี้ถูกจัดให้อยู่ในลำดับที่ 109 ซึ่งทีมงานอธิบายว่า
"ความจริงหลักการบริหารความเสี่ยงเป็นสิ่งจำเป็น และมีประโยชน์อย่างยิ่งในการบริหารจัดการในปัจจุบัน และอนาคต นักศึกษาจำเป็นต้องเรียนรู้ แต่ถ้าผู้ที่ไม่ได้อยู่ในวงการหรืออยู่ในสายวิชาชีพที่ต้องใช้นำไปอ่าน ถ้าอ่านได้ถึงบทที่ 3 (Management systems and risk) แล้วยังไม่วางก็นับว่าเก่งแล้ว แต่ถ้าอ่านรวดเดียวถึงบทสุดท้าย (A research agenda) ก็ต้องยกให้เป็นยอดคนเลย เพราะเหมือนอ่านตำราเรียนอย่างไร อย่างนั้น"
ส่วนหนังสือน่าอ่านที่สุด ทีมงานบ้านพิษณุโลก ยกให้ แฮร์รี่ พอตเตอร์ ของ J.K.Rowling ครับ
วันอังคารที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2553
วันจันทร์ที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2553
สมัครสมาชิก:
บทความ (Atom)